หลายคนบอกว่างานนั้นงานนี้ไม่มีปัญหา แต่พออธิบายลึกลงไปในรายละเอียด กลับมีแต่คำว่า 'ปัญหา' พรั่งพรูออกมาเต็มเลย
ลองมานั่งนึกดูว่าวันหนึ่งๆ เราใช้คำว่า 'ปัญหา' มากเกินไปรึเปล่า แต่คงไม่ใช่เพราะไม่เข้าใจความหมาย เพียงแต่การสื่อความหมาย โดยเฉพาะน้ำหนักความรุนแรงของปัญหา ทุกครั้งที่พูดออกมาคงไม่เท่ากัน เรื่องเล็กเรื่องน้อยที่เราหาคำตอบหรือข้อสรุปยังไม่ได้ ก็ไปเรียกมันว่า 'ปัญหา' ซะแล้ว
อย่างที่มักจะได้ยินกันว่า "บริษัทจ้างเรามาแก้ปัญหา ถ้าไม่มีปัญหาเค้าคงไม่จ้างเรา" นั่นก็หมายความว่าปัญหาทำให้เกิดงาน งานคือการแก้ไขปัญหา เพียงแต่การสื่อสารด้วยคำว่าปัญหาบ่อยๆ อาจจะฟังดูไม่ดีเท่านั้นเอง (ก็อยู่ที่ผู้ฟังด้วย)
จริงๆ ปัญหาหลักขององค์กรธุรกิจ มีอยู่อย่างเดียว คือ มีเงินลงทุนอยู่ก้อนหนึ่ง จะใช้มันทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เพื่อทำให้มันงอกเงยขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เขียนเป็นสมการคณิตศาสตร์ง่ายๆ
กำไร = รายได้ - ต้นทุน
โจทย์คือ รู้ว่ามีต้นทุนเท่าไร แล้วต้องการทำกำไรให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก็ต้องทำให้รายได้มีค่าสูงที่สุดนั่นเอง
พนักงานแต่ละคนเป็นหน่วยย่อยขององค์กร รู้ว่าต้นทุนตัวเองเป็นเท่าไร คิดแบบง่ายๆก็คือ เงินเดือน โจทย์หรือปัญหาของเราคือ จะทำอย่างไร เพื่อให้กำไรที่เกิดจากเงินเดือนของเราสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เท่านี้เอง เพราะฉะนั้นระหว่างทำงาน ก็หาทางแก้ปัญหานี้ไปเรื่อยๆ ทุกวัน พยายามตอบโจทย์นี้ให้ได้ทุกวัน ถ้าทำได้ (กำไรเป็นบวก และตามเป้า) ก็ถือว่าสำเร็จครับ
การที่ตัวเราเป็นลูกจ้างกินเงินเดือน ถ้ามองว่าตัวเราคือหนึ่งองค์กรธุรกิจ โจทย์หรือปัญหาเหมือนกัน คือต้องการกำไรสูงสุด สมการเดียวกัน
กำไร = เงินเดือน(รายได้) - ค่าใช้จ่ายรายเดือน(ต้นทุน)
กรณีนี้เงินเดือนกลายเป็นรายได้ โจทย์หรือปัญหาคือต้องทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายรายเดือน(ต้นทุน) มีค่าน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ได้กำไรสูงสุด
ปัญหาในชีวิตการทำงานมีแค่นี้เอง ง่ายมั้ยครับ ตลอดชีวิตการทำงานของผม ถูกบ่มเพาะให้คิดและมองแบบนี้จริงๆ
No comments:
Post a Comment