Thursday, December 27, 2007

เหมือนหรือต่าง..สำคัญ?

บรรยากาศสังคมและบ้านเมืองเราในช่วงเวลานี้ ดูช่างขัดแย้ง แบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน โดยนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น สื่อหลักที่ว่าถูกครอบงำ(?) และสื่อใหม่ที่ว่าเปิดกว้าง(?) ส่วนตัวผมกลับรู้สึกโดยเบื้องต้นว่า อะไรที่มันยิ่งกว้าง จะยิ่งอ้างว้างห่างเหิน -- อุปมาอุปมัยเหมือนดั่ง น้ำปริมาณเท่ากัน แต่อยู่ในขวดกับอยู่ในถัง ซึ่งที่จริงน้ำก็ยังคงเป็นน้ำที่มีปริมาณเท่าเดิมอยู่ดี เมื่อมีเศษสิ่งปฏิกูลเพียงนิดเข้ามาเจือปน ก็ทำให้น้ำทั้งหมดนั้นกลายเป็นน้ำเสียไป แยกได้หรือว่านี่น้ำดี นั่นน้ำเสีย เพราะล้วนอยู่ในแหล่งเก็บเดียวกัน

วันนี้มีโอกาสได้อ่านบทความอขันติธรรมแล้ว อยากให้ประชาชนคนไทยทุกคน ได้ลองอ่านแล้วคิดตาม โดยเฉพาะประเด็นการรับฟังความความคิดเห็นที่แตกต่างของ John Stuart Mill ซึ่งต้องขอยกมาแปะไว้อ่านที่นี่ด้วย

ทำไมจึงต้องรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง John Stuart Mill ได้ให้เหตุผลถึงความสำคัญของการรับฟังความเห็นไว้ ดังนี้

ประการแรก ถ้าความเห็นที่ต่างออกไปเป็นความเห็นที่ดีกว่า หรือเป็นความเห็นที่ถูกต้อง การ
ไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้แสดงออก หรือการไม่ยอมรับฟังในสิ่งไม่เหมือนกับความเชื่อของตน
ก็เท่ากับจะเป็นการปิดกั้น และทำให้สังคมเสียโอกาสในการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ควร
จะดีขึ้นจากความเห็นนั้น

ประการที่สอง แต่ถ้าความเห็นซึ่งแตกต่างออกไปเป็นสิ่งที่ผิด การไม่อนุญาตให้เสียงนั้นได้มีโอกาสพูด จะทำให้เกิดผลในด้านลบหรือไม่

สำหรับ Mill แล้ว แม้ความเห็นที่ต่างออกไปนั้นถึงท้ายที่สุดแล้วอาจเป็นสิ่งที่ผิดพลาด แต่ก็ยังควรเปิดพื้นที่ให้สำหรับเสียงนั้น เพราะจะเป็นการตั้งคำถาม และทำให้เกิดการถกเถียงต่อความคิดที่ถูกยึดถือไว้ว่าเพราะอะไร หรือมีเหตุผลเช่นไร ที่ทำให้ความคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับ

ความเห็นที่แม้ผิดก็จะเป็นเสมือนเครื่องมือในการตรวจสอบ และไม่ทำให้ความเชื่อของสังคม
กลายเป็น dead dogma หรือหลักการที่ถูกเคารพโดยปราศจากความเข้าใจจากผู้คน

ประการที่สาม ในความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่บังเกิดขึ้น ความคิดหรือหลักการหลายอย่าง
ไม่ได้เป็นเรื่องของความคิดใหม่มาแทนที่ความคิดเก่า ความถูกต้องมาแทนความผิดพลาด
หากเป็นผลมาจากการเสริมแต่งจากความเห็นหลายด้าน หลายมุม ความเห็นหนึ่งอาจมีข้อดี
และข้อเสียบางอย่าง ความเห็นอื่นอาจมาช่วยเสริมหรืออุดจุดอ่อนของอีกความเห็นหนึ่ง และ
นำไปสู่การสร้างหลักการใหม่ขึ้นโดยประกอบมาจากหลากหลายความเห็น

การยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างจึงเป็นหนทางของการพัฒนาความคิดใหม่ ที่ต่อยอดไปจาก
ฐานความรู้ที่มีอยู่เดิมได้เช่นกัน

ที่สำคัญเป็นประเด็นซึ่งผู้เขียน (สมชาย ปรีชาศิลปกุล) ได้ให้ไว้ และผมก็เห็นด้วยคือ
ความแตกต่างทางความคิดไม่สำคัญเท่ากับว่า เราจะเผชิญกับความแตกต่าง
นั้นอย่างไร -- เป็นเรื่องที่สังคมไทย (รวมถึงสังคมโลก) ควรตระหนักให้มากที่สุด


ที่มา: มติชน วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10418

No comments: