หัวข้อวันนี้ผมเขียนไม่ผิดครับ อ้างอิงจากรายการชีพจรโลก โดยคุณสุทธิชัย หยุ่น และคุณวีณารัตน์ เลาหภคกุล ทาง Modern 9 เมื่อคืนนี้ ซึ่งโหนกระแสวันวาเลนไทน์ด้วยการนำเสนอเรื่องราว ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร อันมีผลสืบเนื่องจากชีวิตรักของครอบครัวในปัจจุบัน
แนวโน้มจากอดีตที่ผ่านมาและอนาคตที่กำลังจะเป็นไป จำนวนประชากรซึ่งเป็นคนสูงอายุ จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จำนวนประชากรในวัยอื่น ทั้งเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน กลับมีสัดส่วนลดลง เนื่องจากอัตราการเพิ่มของเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันคนเราแต่งงานช้า ไม่นิยมแต่งงานก็มีมาก ที่แต่งแล้วไม่อยากมีลูก หรือมีน้อยแค่ 1-2 คน ด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายของชีวิต อยู่ที่ความสำเร็จในหน้าที่การงาน มากกว่าความสุขจากความรักของคนในครอบครัว
ประเด็นคือ อัตราส่วนจำนวนประชากรที่เป็นผู้สูงอายุ ต่อจำนวนประชากรวัยทำงานสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหานี้อยู่ โดยมีจำนวนประชากรที่เป็นผู้สูงอายุมากถึง 25% -- คนชราหลายคน ถึงกับยอมทำผิดกฏหมาย ลักเล็กขโมยน้อยยอมถูกจับ เพื่อจะได้เข้าไปให้รัฐดูแลในคุกในตาราง ดีกว่าโดดเดี่ยว และอดอยากอยู่ข้างนอก
จิตแพทย์ท่านหนึ่งบอกว่า คนเราในปัจจุบันนี้ถูกปลูกฝังนิสัยเปลี่ยนง่าย เปลี่ยนทุกอย่างเหมือนเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ แม้กระทั่งเปลี่ยนคู่ อีกทั้งไม่อดทน ไม่รู้จักรอ เมื่อก่อนใช้กล้องฟิล์มถ่ายภาพ ต้องรอจนกว่าจะถ่ายจนฟิล์มหมดม้วน แล้วค่อยเอาไปล้างอัดที่แล็บ นานหลายวันกว่าจะได้เห็นภาพ แต่เดี๋ยวนี้เป็นยุคของกล้องดิจิตอล ถ่ายปุ๊บเห็นภาพปั๊บ ไม่พอใจก็ลบ ถ่ายใหม่ -- ฟังมาถึงตรงนี้ ทำให้นึกเห็นเหตุการณ์ ขณะที่ผมถ่ายภาพลูกสาวเลย พ่อกดชัตเตอร์ครั้งหนึ่งปุ๊บ ลูกคิดวิ่งมาหาพ่อปั๊บ บอกว่า "ไหนพ่อ ขอลูกคิดดูหน่อยค่ะ" เป็นอย่างนี้จริงๆ เด็กทุกคนเป็นเหมือนกันหมด
นึกไม่ถึง(มองข้าม)เลยนะครับว่ากล้องดิจิตอล จะมีผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรในอนาคตด้วย
คิดไปคิดมาให้สงสารคนแก่ยิ่งนัก บางคนถูกลูกหลานทิ้งให้โดดเดี่ยว เหี่ยวแห้งอยู่ในชนบท บางคนมีสมบัติมากมาย ลูกหลานเข้าหาก็เพราะหวังมรดก แต่ไม่มีใครคิดจะใส่ใจดูแลจริงจัง พอมาเจอเนื้อหาในรายการเมื่อคืนนี้อีก ถูกมองแบบเหมารวมว่า เป็นภาระของสังคม -- เฮ้อ! ปลง หาทางตายเสียตั้งแต่ยังไม่แก่ จนเป็นภาระของใคร ดีกว่ามั้ยนะเรา
ข้อมูลวิชาการ: สาระพันความรู้ประชากร วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
No comments:
Post a Comment