เรื่องที่นำมาฝากกันในวันนี้ เป็นประสบการณ์ตรงของคุณแม่ท่านหนึ่ง ซึ่งโทรศัพท์เข้าไปพูดคุย แลกเปลี่ยนกับพี่น้องสินเจริญ ในรายการวิทยุ FM1 เมื่อเช้านี้เอง (ผมได้ฟังระหว่างนั่งรถเมล์มาทำงาน) ประเด็นก็แนวๆ ว่า ผู้ปกครองสมัยนี้ มีความยากลำบาก และอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน ในการพาลูกหลานไปสมัครเรียน รวมทั้งมีทัศนคติอย่างไร เช่น ให้เรียนโรงเรียนดังดี หรือจะเรียนใกล้บ้านดี ประมาณนี้
คุณฟ้า (ชื่อของคุณแม่ท่านนี้) เล่าให้ฟังว่า เคยพาลูกไปสมัครเข้าเรียนต่อ ที่โรงเรียนรัฐบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง (ผมเดาเอาเองว่าเป็นระดับ ม.1) ในส่วนของโควตานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านดนตรี ลูกเล่นแซ็กโซโฟนได้ อ่านโน้ตดนตรีสากลเป็น และด้วยขณะนั้นวงดุริยางค์ของโรงเรียน กำลังขาดตำแหน่งเครื่องเป่าพอดี คุณฟ้ามั่นใจว่าลูกชายต้องได้แน่ๆ -- แต่ผลออกมาคือไม่ได้ ส่วนคนที่ได้นั้น พ่อแม่ของเด็กมียศตำแหน่งค่อนข้างสูง ทั้งๆ ที่ลูกอ่านโน้ตดนตรีก็ไม่เป็น แค่พอเล่นได้เท่านั้น
"เฮ้อ! ทำใจยอมรับกันไป ประเทศไทย ก็แค่แม่ชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งนะลูก ทำดีที่สุดแล้ว"
ยังไม่จบครับ ทางโรงเรียนมีทางเลือกให้อีก คือ ให้คุณฟ้าไปกรอกแบบฟอร์มเงินบริจาค (ทำเป็นกิจลักษณะเชียว) โดยลงตัวเลขตามความสมัครใจ แล้วกรรมการของโรงเรียนจะพิจารณาอีกครั้ง ระหว่างที่เขียนแบบฟอร์มอยู่นั้น อาจารย์ท่านหนึ่งยืนคุยกับผู้ปกครองและเด็กคู่หนึ่ง ได้ยินประมาณว่า เข้ามาเรียนที่นี่แล้วก็ตั้งใจเรียนนะ อย่าให้เสียชื่อคุณพ่อคุณแม่ และชื่อเสียงของโรงเรียน (คุณฟ้าบอกว่า ผู้ปกครองท่านนั้น ก็เพิ่งยื่นแบบฟอร์มบริจาค)
ถึงคิวของคุณฟ้า คราวนี้กลับตรงกันข้าม อาจารย์ท่านนั้น เมื่อเห็นตัวเลขในแบบฟอร์มบริจาค ก็โยนเอกสารลงบนโต๊ะ และบอกว่า ทางเราจะรับไปพิจารณาก่อนนะครับ ไม่รับประกันว่าลูกของคุณจะได้หรือไม่ได้ คุณฟ้ารีบเดินตามผู้ปกครองคนเมื่อสักครู่ แล้วถามตรงๆ ว่ากรอกตัวเลขเท่าไร ได้คำตอบว่า 50,000 บาท ถึงตรงนี้พี่น้องสินเจริญก็ถามตรงอีกเหมือนกันว่า คุณฟ้ากรอกไปเท่าไร ตัวเลขคือ 20,000 บาท
เนื้อหาเรื่องราว ผมจับใจความมาได้เพียงเท่านี้ ถึงแม้ไม่แปลกใจนัก แต่กลับอนาถและสะท้อนใจหนัก เพราะว่าผมมีลูกเล็ก ซึ่งคงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในอนาคตอันใกล้ (คนเราก็อย่างนี้ ถ้าไม่เดือดร้อน ก็ไม่สนใจหรอก) รุ่นพ่อรุ่นแม่ของตัวเราเอง ทุ่มเททำงานหนักอย่างไร ก็เพียงแค่เรื่องหาเงินทอง ส่งเสียลูกๆ เท่านั้น แต่พ่อแม่สมัยนี้ แค่ทำงานหนักหาเงินยังไม่พอ ต้องหาให้ได้มากกว่าพ่อแม่คนอื่นๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเท่าไหร่ถึงจะพอ นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องเส้นสายนะ
ที่สำคัญก็คือ ไม่มีทางเลือกที่เป็นทางออกทางสว่างได้เลย ทุกวันนี้ ผมไม่เคยเห็นผู้ปกครองคนไหน มีความหวังกับนโยบายด้านการศึกษา และการจัดการจากภาครัฐเลย ใครที่พอมีกำลังก็วิ่งเต้นทุกวิถีทาง ส่วนใครที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ทางเดียวที่ทำได้ ก็คือทำใจ .. สถานะตัวผมเองยังคงก้ำกึ่ง แต่ค่อนมาทางอย่างหลังซะมากกว่า
ย้ำเตือนตัวเองอยู่บ่อยๆ เหมือนกันว่า ไม่ผิดหรอกที่เราจะทำให้ลูก ได้ไม่เท่าคนอื่น เพราะคนที่ทำได้ไม่เท่าเราก็มี (เปรียบเทียบในมุมของทุนนิยม) แค่หวังว่าสักวันหนึ่งเมื่อโตขึ้น ลูกจะเข้าใจพ่อและแม่ แม้วันนั้นมันจะอีกนานเท่าไรก็ตาม
No comments:
Post a Comment